เผยแพร่โดย เรื่องเล่า ภาพเก่า ในอดีตราชบุรี
จะเล่าเรื่อง " คลองดำเนินสะดวก " ให้รู้กันจริงๆ เสียที พร้อมทั้งนำเสนอ คลิปหาชมยาก "คลองดำเนินสะดวกเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๓."
ในวิถีชีวิตคนไทยไม่มีใครสามารถปฏิเสธความผูกพันที่มีต่อสายน้ำอันเป็นแหล่งกำเนิดอาหาร ของมวลมนุษยโลก
คลองดำเนินสะดวกก็เป็นสายน้ำหนึ่งแม้มีการเปลี่ยนแปลงไปตามกาล เวลาและวิวัฒนาการของโลก แต่ก็ยังคงเป็นแหล่งผลิตอาหารและแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของประเทศไทย
คลองดำเนินสะดวกเป็นคลองที่มีประวัติอันยาวนานครั้งหนึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๕ ก็เคยเสด็จประพาสต้น ณ. คลองแห่งนี้คุณทราบหรือไม่ว่านับจากวัน เปิดคลองจวบจนถึงปัจจุบัน (พ.ศ.๒๕๕๘) คลองดำเนินสะดวกมีอายุครบ ๑๔๗ ปีไปแล้ว
..จุดกำเนิดของคลองดำเนินสะดวก..
คลองดำเนินสะดวกได้ถือกำเนิดขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๐๙ จากพระราชปรารภของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๔ ที่ว่าการเดินทางจากกรุงเทพฯ ไปยังจังหวัดสมุทรสาครนั้นเรา มีคลองภาษีเจริญ ทำให้การเดินทางไปมาได้สะดวกดี แต่ถ้ามีคลองเชื่อมโยงระหว่างกรุงเทพฯ จังหวัดสมุทรสงคราม และจังหวัดราชบุรีก็จะยิ่งสะดวกขึ้นอีกมาก
โดยมีนัยแห่งจุดประสงค์ของพระราชปรารภที่ต้องการเชื่อมโยงแม่น้ำหลัก ๓ สาย อันได้แก่ แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำท่าจีน และแม่น้ำแม่กลอง ด้วยคลองเพื่อความสะดวกในด้านคมนาคมทางน้ำ โดยแต่เดิมมีคลองภาษีเจริญเชื่อมระหว่างแม่น้ำเจ้าพระยา และท่าจีนอยู่แล้ว
.. ต่อมาในปีเดียวกันนั้นเอง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๔ จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ พระประสาทสิทธิ์ ( เดิมชื่อ ช่วง บุนนาค ต่อมาได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น พระยาศรีสุริยวงศ์ และสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ตามลำดับ เป็นต้นตระกูล บุนนาค ) เป็นผู้อำนวยการในขุดคลองเพื่อเชื่อมแม่น้ำท่าจีน และแม่น้ำแม่กลอง
โดยใช้งบประมาณจากทุนทรัพย์ส่วนพระองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๔ จำนวน ๔๐๐ ชั่ง และทุนทรัพย์ของพระประสาทสิทธิ์ผู้อำนวยการขุดคลองอีก ๑๐๐๐ ชั่ง รวม ๑๔๐๐ ชั่ง หรือ ๑๑๒,๐๐ บาท (๑ ชั่ง เท่ากับ ๘๐ บาท) ซึ่งคิดตามค่าเงินในปัจจุบันต้องเอา ๑,๐๐๐ คูณเข้าไป (สมัยนั้นก๋วยเตี๋ยวชามละ ๒-๓ สตางค์ ปัจจุบันชามละ ๒๐-๒๕ บาท) ทั้งนี้งบประมาณดังกล่าวไม่ได้นับรวมแรงงานของประชาชนที่เอาแรงมาช่วยขุดด้วย
... ในการขุดคลองครั้งนั้นได้ว่าจ้างแรงงานชาวจีนเป็นผู้ขุดคลองเป็นส่วนใหญ่ โดยใช้วิธีขุด ๒ วาเว้น ๑ วา แล้วปล่อยให้น้ำหลากเซาะให้ทะลุต่อกัน โดยเริ่มต้นขุดจากปากคลองบางยางแม่น้ำท่าจีน จังหวัดสมุทรสาคร(อำเภอบ้านแพ้วในปัจจุบัน)ผ่านจังหวัดราชบุรี(อำเภอดำเนินสะดวกในปัจจุบัน)และสิ้นสุดที่บางนกแขวก จังหวัดสมุทรสงคราม(อำเภอบางคนทีในปัจจุบัน) รวมระยะทางทั้งสิ้น ๓๓.๖ กม. ใช้เวลาในการขุดรวม๒ ปี เสร็จสิ้นในปี พ.ศ. ๒๔๑๑
..ทำไมจึงชื่อ คลองดำเนินสะดวก..
เมื่อเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ ได้ขุดคลองเสร็จแล้ว ได้จัดทำแผนผังในการขุดคลองยาว ๘๔๐ เส้น กว้าง ๖ วา ลึก ๑ วา ๒ ศอก(๒ ศอก = ๑ เมตร , ๒ เมตร = ๑ วา , ๑ เส้น = ๔๐ เมตร) ขึ้นทูลเกล้าถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๔
เมื่อพระองค์ได้ทอดพระเนตรดูแผนผังแล้วทรงเห็นว่าคลองที่ขุดใหม่มีความยาวมาก และขุดได้ตรงไม่คดเคี้ยว สะดวกต่อการสัญจรไปมา จึงพระราชทานนามให้เป็นมงคล แก่คลองนี้ว่า "ดำเนินสะดวก" จึงได้ชื่อว่า คลองดำเนินสะดวก นับตั้งแต่นั้นมาจวบจนปัจจุบัน
..วันเปิดคลองดำเนินสะดวก..
หลังขุดคลองเสร็จและได้รับพระราชทานนามว่า"คลองดำเนินสะดวก" แล้ว จึงได้ฤกษ์ทำพิธีเปิดคลอง เมื่อวันที่ ๒๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๑๑ ณ ปากคลองดำเนินสะดวกเชื่อมแม่น้ำแม่กลอง บริเวณบางนกแขวก อ.บางคนที จ.สมุทรสงครามในปัจจุบัน โดย ฯพณฯ สมุหกลาโหมในขณะนั้นเป็นประธานในการเปิดคลอง
..ลักษณะคลองดำเนินสะดวก..
คลองดำเนินสะดวกเป็นคลองขุดที่ค่อนข้างตรงเดิมกว้าง ๖ วา ต่อมาถูกน้ำกัดเซาะตลิ่ง ปัจจุบันจึงกว้าง ๑๐-๒๐วา เป็นคลองที่มีคลองซอยเชื่อมต่อกัน จำนวนมากกว่า ๒๐๐ คลอง อันเกิดจากการเข้ามาจับจองที่ดิน หลังขุดคลองเสร็จแล้วของผู้คนจำนวนมาก รวมทั้งเจ้านายชั้นผู้ใหญ่ ซึ่งหลังจากเข้ามาจับจองแล้ว ก็ทำการขุดคลองซอยเชื่อมต่อคลองใหญ่ (คลองดำเนินสะดวก) และเชื่อมต่อคลองซอยซึ่งกันและกัน เพื่อความสะดวกในการสัญจร
.......................................................................
...นอกจากนี้คลองดำเนินสะดวกยังมีการแบ่งหลักเขตทั้งหมด ๙ หลัก โดยเริ่มหลักแรกเป็นหลักศูนย์ ที่บริเวณปากคลองบางยาง และสิ้นสุดหลักสุดท้ายที่หลักแปด แต่ละหลักจะห่างกัน ๔ กม. หลักเขตทั้ง ๙ หลักยัง ปรากฏให้เห็นอยู่ในปัจจุบัน
โดยหลักศูนย์ถึงหลักห้า อยู่ในเขต อ.บ้านแพ้ว จ.สมุทรสาคร / หลักหกและหลักเจ็ด อยู่ในเขต อ.ดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี และหลักแปดอยู่ที่ อ.บางคนที จ.สมุทรสงคราม..