Luxellence Center จัดสัมมนาอัพเดทเทรนด์สินค้าแบรนด์หรู
What’s New in the Luxury World 2020
ศูนย์องค์ความรู้ด้านลักชัวรี่ (Luxellence Center) ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการเผยแพร่ความรู้ด้านลักชัวรี่ ผ่านงานสัมมนา What’s New in the Luxury World 2020 (ทิศทางสินค้าแบรนด์หรูปี 2563) เมื่อพุธที่ 22 มกราคม 2563, เวลา 13:00 – 16:00 น ณ LUXELLENCE LEARNING CENTER อาคารปัญจภูมิ 1 ชั้น 3 ถนนสาทรใต้ เพื่อให้ผู้ประกอบการทางธุรกิจได้มีความพร้อมและความเข้าใจในการเปลี่ยนแปลงของผู้บริโภคสินค้าแบรนด์หรูทั้งในระดับตลาดโลกและภายในประเทศ โดยได้รับเกียรติจากวิทยากรจากหลากสาขา
ดร.ฐิติพร สถาวรมณี ผู้อำนวยการ Luxellence Center เผย ‘แนวโน้มในอนาคตของตลาดสินค้าลักชัวรี่ในปี 2563’ โดยกล่าวว่าในมุมมองของเศรษฐกิจโลก สำหรับอุตสาหกรรมหรูหราในปี 2562 ที่ผ่านมาเติบโตขึ้น 4% สู่มูลค่าระดับ 281 พันล้านยูโร และในปี 2563 น่าจะมีแนวโน้มการเติบโตระดับปกติที่ระหว่าง 4-6% (Normal Growth)
ในขณะเดียวกันแม้ว่าประเทศจีนยังคงเป็นตลาดที่มีศักยภาพสูงสำหรับแบรนด์สินค้าแฟชั่นหรูหรา แต่ก็เป็นตลาดที่มีความซับซ้อนและเข้าถึงได้ไม่ง่าย ดังนั้นผู้ประกอบการควรมองถึงโอกาศใหม่ๆ นอกเหนือจากประเทศจีน เช่น ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่มีศักยภาพในการเติบโตเร็วที่สุดในโลก อาทิ เวียดนาม หรือฟิลิปปินส์ ในมุมมองของพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป
มีเทรนด์ที่น่าจับตามองหลักๆ คือ โซเชียลมีเดียที่เป็นทางเลือกใหม่ในการสร้างคอมมูนิตี้ (Next-Gen Social Media and Brand Communities) เช่น TikTok, ความสำคัญของธุรกิจที่ยึดหลักเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainability First), ลูกค้าที่ต้องการเนื้อหาเพิ่มเติมและ Relevant ในเวลาอันสั้นขึ้นกว่าเดิม (Catch me in seconds Consumer) และความกังวลเรื่องความเป็นส่วนตัว (Privacy) ของการใช้ข้อมูลลูกค้าเพื่อพัฒนาสินค้าและบริการที่เฉพาะเจาะจง (Private Personalization)
สุดท้ายในมุมมองของกลุ่มสินค้าหรูหราเอง การกลับไปมองเรื่องตัวตนและหลักการที่แบรนด์ยึดถือเป็นเรื่องที่ต้องกลับมาทบทวนกันใหม่ เพื่อตอบโจทย์ลูกค้าสินค้าหรูกลุ่ม Millennials และ Generation Z ในปัจจุบัน (Existential Luxury)
จะเห็นการร่วมมือกันระหว่างแบรนด์ที่ไม่คาดคิดมากขึ้นไปอีก (Cool-laborations) ขณะที่จะเห็นการควบรวมกิจการของแบรนด์ดังเพื่อความอยู่รอดและขยายฐานลูกค้ามากขึ้น (Consolidation) รูปแบบค้าปลีกแนวใหม่ที่ผสมผสานระหว่าง Physical + Digital (Phygital Pop-ups) และเทรนด์การใช้กล่องที่ออกแบบสวยงามเป็นเสมือนหน้าร้าน เพื่อสร้างประสบการณ์แบบหรูหราไร้รอยต่อ ในขณะที่การสั่งซื้อสินค้าหรูออนไลน์มีการเติบโตมากขึ้น (Unboxing the New Storefront)
ต่อมาปัทมา จอมศิริวัฒนา ผู้อำนวยการ บริษัทวิจัย Stamina Asia ได้เผยถึงผลการสำรวจการสัมภาษณ์ผู้บริโภคสินค้าหรูไทย 400 ท่าน ภายใต้หัวข้อ ‘เจาะลึกข้อมูลผู้บริโภคหนุ่มสาวสินค้าลักชัวรี่ในประเทศไทย’
โดยในกลุ่มสินค้าหลัก 3 ประเภท ที่ผู้บริโภคไทยให้ความนิยมมากที่สุดคือ นาฬิกา เสื้อผ้า และเครื่องสำอางค์
ในขณะที่ 3 ประเภทหลักที่ได้รับความนิยมในกลุ่มการบริการ ได้แก่ การทานอาหารชั้นเลิศ (Fine dining) โรงแรมหรู และการโดยสารการบินหรู
และเพื่อให้ผู้เข้าร่วมงานสัมมนาได้เห็นภาพจากการศึกษาตลาดสินค้าลักชัวรี่ในระดับสากล เทียบกับประเทศไทย ว่ามีความแตกต่างกันอย่างไรบ้าง และเพื่อนำข้อมูลจากทั้งสองฝ่ายมาประยุกต์ใช้กับธุรกิจ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดผ่านการเสวนาหมู่ช่วงสุดท้าย ในหัวข้อ “การประยุกต์เทรนด์ธุรกิจโลกให้เข้ากับธุรกิจในประเทศได้อย่างไร”
โดยได้รับเกียรติจาก สุธีรพันธุ์ สักรวัตร EVP Head of Marketing ธนาคารไทยพาณิชย์ พร้อมด้วย ปัทมา จอมศิริวัฒนา ดำเนินการเสวนาโดย ขวัญตา ศิริวัจนางกูร Managing Partner จาก Luxellence Center
โดยการเสวนาในครั้งนี้ได้รับความสนใจจากผู้เข้าร่วมงานอย่างคับคั่ง ทั้งจากผู้บริหารระดับสูง ผู้ประกอบการ และนักธุรกิจรุ่นใหม่ ที่ไม่หยุดยั้งในการพัฒนาธุรกิจของตน
ภาพประกอบการบรรยาย :
(Global Foresight Outlook in Luxury 2020)
โดย ดร.ฐิติพร สถาวรมณี, ผู้อำนวยการ Luxellence Center
(A Look into Young Thai Luxury Consumers)
โดย ปัทมา จอมศิริวัฒนา, ผู้อำนวยการ Stamina Asia