แฟชั่นมรณะ
เผยแพร่โดย
เรื่อง เบกกี ลิตเทิล
• การ์ตูนชื่อ “วอลต์ซสารหนู” พูดถึงเรื่องสารหนูที่ปนเปื้อนอยู่ในเครื่องแต่งกายและดอกไม้ประดิษฐ์ ภาพวาดประกอบนี้ตีพิมพ์ในนิตยสารแนวขำขันชื่อ Punch ของสหราชอาณาจักร เพียงไม่กี่เดือนหลังจากคนงานคนหนึ่งในอุตสาหกรรมแฟชั่นเสียชีวิตลงเพราะได้รับพิษจากสารหนู
- Image courtesy Bloomsbury and Wellcome Library, London
บ่ายวันหนึ่งในปี 1861 ระหว่างที่กวี เฮนรี วาดส์เวิร์ท ลองเฟลโลว์ กำลังนั่งอยู่ที่บ้าน ภรรยาของเขา แฟนนี ก็เกิดไฟลุกโชนไปทั้งตัว แผลไหม้ของเธอร้ายแรงมากจนทำให้เธอเสียชีวิตลงในวันรุ่งขึ้น ข่าวมรณกรรมของเธอระบุว่า ไฟนั้นติดขึ้นเมื่อ “ไม้ขีดไฟหรือกระดาษติดไฟแผ่นหนึ่งมาสัมผัสชุดของเธอเข้า”
นี่ไม่ใช่วิธีเสียชีวิตที่แปลกประหลาดแต่อย่างใดในยุคนั้น ในช่วงเวลาที่เทียนไข ตะเกียงน้ำมัน และเตาผิงเป็นแหล่งให้ความร้อนภายในบ้านแก่อเมริกันชนและชาวยุโรป กระโปรงสุ่มกว้างของสตรี ผ้าฝ้ายพริ้วสลวย และกระโปรงกรุยกรายล้วนแต่เป็นชนวนชั้นดี ต่างจากผ้าขนสัตว์ที่เข้ารูปของเหล่าบุรุษ
เสื้อผ้าของคนยุคนั้นเป็นกับดักมรณะดีๆนี่เอง ถุงเท้าที่ทำจากสีย้อมผสมสารอนิลีน (Aniline – ของเหลวชนิดหนึ่งที่ใช้ในการสังเคราะห์สีและยา คนไทยเรียกสีสวรรค์) ทำให้เท้าผู้ชายติดไฟ และทำให้คนงานโรงงานเสื้อผ้าต้องปวดเมื่อยและกระทั่งป่วยด้วยโรคมะเร็งกระเพาะปัสสาวะมาแล้ว เครื่องสำอางที่มีตะกั่วทำลายเส้นประสาทข้อมือของผู้หญิงจนยกมือไม่ขึ้น หวีเซลลูลอยด์ที่ผู้หญิงบางคนนิยมเสียบผมไว้จะระเบิดเมื่อร้อนเกินไป ในเมืองพิตต์สเบิร์ก หนังสือพิมพ์หัวหนึ่งรายงานว่า ผู้ชายที่พกพาหวีเซลลูลอยด์ถึงกับเสียชีวิต “ระหว่างตกแต่งเครายาวงามสีเงิน” และมีเหตุโรงงานผลิตหวีระเบิดในเมืองบรุกลิน
อันที่จริงเสื้อผ้านำสมัยที่สุดในยุคนั้นทำจากสารเคมีที่ปัจจุบันยอมรับกันว่าเป็นพิษเกินไป และผู้ผลิตเครื่องแต่งกายเหล่านั้นเองที่มักตกเป็นเหยื่อมากกว่าจะเป็นผู้สวมใส่
• คณะกรรมาธิการป้องกันอัคคีภัยแห่งสหราชอาณาจักร ปี 1910 สาธิตการติดไฟของผ้าสำลี ชุดทางซ้ายเป็นชุดกันไฟ แต่ทางขวาไม่กันไฟ ซึ่งไหม้ไฟหมดภายใน 60 วินาที
- Photograph courtesy Bloomsbury and Wellcome Library, London
โรคร้ายจากปรอท
หลายคนคิดว่า สำนวน “บ้าเหมือนคนทำหมวก” (mad as a hatter) เป็นคำเปรียบเปรยถึงผลข้างเคียงทางจิตและกายที่คนทำหมวกได้รับจากการใช้สารปรอทในการทำหมวก
แม้นักวิชาการจะค้านว่านี่อาจไม่ใช่ที่มาของสำนวนดังกล่าว แต่คนทำหมวกจำนวนมากก็มีอาการปรอทเป็นพิษจริงๆ ถึงสำนวนจะฟังดูชวนขัน และแม้ว่านาย Mad Hatter ใน Alice’s Adventures in Wonderland จะเป็นคนเพี้ยนแสนสนุก แต่โรคภัยที่ทำให้คนทำหมวกเจ็บไข้ได้ป่วยกลับไม่ใช่เรื่องตลกเลยแม้แต่น้อย เพราะอาการปรอทเป็นพิษนั้นทำให้เกิดอาการอ่อนเปลี้ยเพลียแรงและทำให้ถึงแก่ชีวิตได้
ในศตวรรษที่สิบแปดและสิบเก้า หมวกสักหลาดของบุรุษทำจากขนกระต่ายป่าและกระต่าย คนทำหมวกต้องใช้สารปรอทแปรงขนให้ติดกันเพื่อทำเป็นสักหลาด
“ปรอทเป็นพิษร้ายแรงค่ะ” แอลิสัน แมตทิวส์ เดวิด ผู้เขียน Fashion Victims: The Dangers of Dress Past and Present บอก “โดยเฉพาะถ้าหายใจเข้าไป เพราะมันจะตรงเข้าสู่สมองทันที”
อาการแรกๆที่จะแสดงออกมาคือปัญหาทางประสาทควบคุมการเคลื่อนไหว อย่างเช่นเริ่มมีอาการสั่น ที่เมืองแดนเบอรี รัฐคอนเนตทิคัต ซึ่งเป็นเมืองทำหมวก อาการนี้รู้จักกันในชื่อ - “อาการสั่นแดนเบอรี”
นอกจากนี้ยังมีปัญหาทางจิตอีกด้วย “คุณจะกลายเป็นคนขี้อายอย่างหนักและเกิดอาการหวาดระแวง” แมตทิวส์ เดวิด บอก เมื่อแพทย์ชันสูตร (medical examiner) มาตรวจคนทำหมวกเพื่อบันทึกอาการไว้ พวกเขาจะ “คิดว่าตัวเองกำลังโดนจับตาดู และจะเหวี่ยงเครื่องมือลงกับพื้น ออกอาการโมโหและระเบิดอารมณ์ออกมา” คนทำหมวกหลายคนมีปัญหาทางสุขภาพเกี่ยวกับระบบไหลเวียนเลือด ฟันร่วง และเสียชีวิตก่อนวัยอันควร
แม้ว่าอาการเหล่านี้จะได้รับการบันทึกไว้ แต่หลายคนมองว่าเป็นภัยที่มากับงาน ซึ่งคนงานควรทำใจยอมรับ นอกจากนี้ ปรอทยังส่งผลต่อเฉพาะคนทำหมวกเท่านั้น โดยที่ผู้สวมหมวกไม่ได้รับผลกระทบ เนื่องจากมีการบุหมวกป้องกันไว้อีกชั้นหนึ่ง
“คนทำหมวกเองก็พากันต่อต้านค่ะ” แมตทิวส์ เดวิด กล่าวเมื่อพูดถึงสภาพการทำงานที่ไม่ปลอดภัย “แต่ว่ากันตามตรงแล้ว สิ่งเดียวที่ทำให้มัน [การใช้ปรอทในการทำหมวก] หายไปก็เพราะแฟชั่นสวมหมวกของผู้ชายเริ่มเอาต์ในทศวรรษ 1960 และนั่นแหละที่ทำให้เทรนด์หายไปจริงๆ เพราะไม่เคยมีการห้ามใช้ปรอทในสหราชอาณาจักรเลยค่ะ”
• คนทำหมวกเริ่มใช้ปรอทในการแต่งหมวกที่ทำจากกระต่ายป่าและกระต่ายในช่วงทศวรรษ 1730 หมวกใบนี้ทำขึ้นในศตวรรษที่สิบเก้า และผลการทดสอบระบุว่า ยังมีสารปรอทตกค้างอยู่ถึงปัจจุบัน
- Photograph by Ron Wood, Courtesy Bata Shoe Museum
สารหนูและลูกไม้เก่า
สารหนูมีอยู่ทุกหนแห่งในสหราชอาณาจักรยุคพระนางเจ้าวิกตอเรีย และแม้ว่าสารนี้จะใช้ในการเป็นอาวุธฆาตกรรม สารหนูที่ได้จากธรรมชาติและมีราคาถูกชนิดนี้ใช้ในการผลิตเทียน ม่าน และวอลเปเปอร์ เจมส์ ซี. วอร์ทัน เขียนไว้ในหนังสือ The Arsenic Century: How Victorian Britain Was Poisoned at Home, Work, and Play
การที่สารหนูทำให้ผ้าย้อมกลายเป็นสีเขียวสดอาจตกค้างอยู่ในชุด ถุงมือ รองเท้า และพวงดอกไม้ประดิษฐ์ ซึ่งผู้หญิงใช้ในการตกแต่งเรือนผมและเสื้อผ้า
พวงดอกไม้อาจทำให้ผู้หญิงเป็นผื่น แต่แฟชั่นสารหนูก็ไม่ต่างจากหมวกปรอทตรงที่เป็นอันตรายต่อผู้ผลิตเท่านั้น แมตทิวส์ เดวิด บอก
ตัวอย่างเช่น ในปี 1861 ช่างทำดอกไม้ประดิษฐ์วัย 19 ปี ชื่อมาทิลดา เชอเรอร์ ซึ่งมีหน้าที่ในการแต่งสีดอกไม้ด้วยผงผสมสารหนูสีเขียว เสียชีวิตลงอย่างน่าเอนจอนาจ เธอชักกระตุก อาเจียน และน้ำลายฟูมปาก น้ำดี เล็บ และลูกตาขาวของเธอกลายเป็นสีเขียว ผลการชันสูตรพลิกศพเผยว่าพบสารหนูในกระเพาะอาหาร ตับ และปอดของเธอ
บทความเกี่ยวกับการเสียชีวิตของเชอเรอร์และภยันตรายที่เหล่าช่างทำดอกไม้ประดิษฐ์ต้องเผชิญ ทำให้สาธารณชนหันมาให้ความสนใจเกี่ยวกับการใช้สารหนูในวงการแฟชั่น
วารสาร British Medical Journal เขียนว่า ผู้หญิงที่สวมใส่เสื้อผ้าหรือเครื่องประดับปนเปื้อนสารหนู “พกพาสารหนูไว้ติดตัวในกระโปรงมากพอสังหารผู้หมายปองทุกคนที่เธอเจอในโถงลีลาศหลายแห่งได้”
ในช่วงกลางถึงช่วงปลายศตวรรษที่สิบเก้า คำกล่าวอ้างที่ก่อให้เกิดความแตกตื่นเช่นนี้เริ่มทำให้คนหันมาต่อต้านเฉดสีเขียวเป็นพิษนี้ในที่สุด
• สารหนูใช้เป็นทั้งสีย้อมและสีทา สีเขียวในชุดและดอกไม้ประดิษฐ์ใน ภาพโฆษณาปี 1840 นี้ได้จากสารหนู ซึ่งพบได้ในชุดจริง และยังใช้ในการระบายสีภาพประกอบนี้ด้วย
- Image courtesy Alison Matthews David
แฟชั่นปลอดภัยไร้สารพิษ
เมื่อคนหันมาตระหนักถึงภัยจากสารหนู อุตสาหกรรมแฟชั่นจึงเลิกใช้สารนี้ โดยสแกนดิเนเวีย ฝรั่งเศส และเยอรมนีสั่งห้ามใช้สารชนิดนี้ (แต่สหราชอาณาจักรไม่ได้สั่ง)
สารหนูเลิกเป็นที่นิยมอย่างรวดเร็วเพราะมีการประดิษฐ์สีสังเคราะห์ขึ้นมา ซึ่งยิ่งทำให้คน “เลิกใช้สารหนูได้ง่าย” ยิ่งขึ้น เอลิซาเบท เซมเมลแฮก ภัณฑารักษ์อาวุโสที่พิพิธภัณฑ์รองเท้าของบาจา Bata Shoe Museum ในเมืองโทรอนโต ประเทศแคนาดา (การจัดแสดงในหัวข้อ “เหยื่อแฟชั่น” Fashion Victims ซึ่งแมตทิวส์ เดวิด มีส่วนร่วมด้วย จะจัดแสดงจนถึงเดือนมกราคม 2560) บอก
เรื่องนี้ชวนให้เราตั้งคำถามเกี่ยวกับแฟชั่นของยุคปัจจุบัน เพราะในขณะที่ชุดสารหนูดูเหมือนเรื่องแปลกจากอดีต ซึ่งเป็นยุคที่เต็มไปด้วยเรื่องโหดร้ายหลายประการ แฟชั่นพิฆาตก็ยังไม่ได้ตกสมัยไปเลยแม้แต่น้อย ในปี 2009 ตุรกีได้สั่งห้ามการใช้เครื่องพ่นทราย ซึ่งนำมาใช้เพื่อทำใหผ้ายีนส์มีสีซีด เพราะคนงานเริ่มป่วยเป็นโรคฝุ่นหินจับปอด (Silicosis) จากการสูดเอาผงทรายเข้าไป
“นั่นไม่ใช่โรคที่รักษาได้ด้วยค่ะ” แมตทิวส์ เดวิด บอก “ถ้าคุณมีทรายในปอด คุณก็จะตาย”
แต่แม้ว่าขั้นตอนการผลิตที่เป็นอันตรายดังกล่าวจะถูกสั่งห้ามในประเทศหนึ่ง ในช่วงที่ยังมีอุปสงค์สำหรับเสื้อผ้าสีซีดนั้นยังคงสูง ฐานการผลิตก็จะหาทางออกด้วยการย้ายไปยังประเทศอื่น (และจะยังผลิตต่อไป แม้จะมีการสั่งระงับแล้วก็ตาม)
เมื่อปีที่แล้ว สำนักข่าวอัลญะซีเราะฮ์ (Al Jazeera) พบว่ามีโรงงานในจีนบางแห่งยังใช้วิธีการทรายพ่นในการผลิตเสื้อผ้าอยู่
ในช่วงปลายศตวรรษที่สิบเก้า เหล่าบุรุษที่สวมหมวกสารปรอท หรือสตรีที่สวมชุดและเครื่องประดับปนเปื้อนสารหนู อาจเห็นคนทำชุดของพวกเขาตามท้องถนนในลอนดอน หรือไม่ก็อ่านเจอเรื่องราวของพวกเขาในหนังสือพิมพ์
แต่ในยุคเศรษฐกิจโลกาภิวัฒณ์เช่นนี้ เราหลายคนกลับมองไม่เห็นผลกระทบจากการเลือกใช้เสื้อผ้าของพวกเราที่ส่งผลต่อผู้อื่นเลยแม้แต่น้อย