นายกฯประยุทธ์ปลื้ม! เป็นเจ้าบ้านประชุมรัฐมนตรีอาเซียน-อาร์เซ็ป
ควงรองนายกฯจุรินทร์ พร้อมรัฐมนตรีเศรษฐกิจของรัฐบาลลุยเจรจาทุกฟังชั่น
ศุกร์ที่ 6 กันยายน 2562 เวลา 09.30 โรงแรมแชงกรี-ลา กรุงเทพฯ: พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวสุนทรพจน์ ในโอกาสพิธีเปิดการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน ครั้งที่ 51 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง โดยมีนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ (หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์) รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานนำการประชุมกล่าวรายงาน โดยนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ด้วยเคยพูดไว้เรื่อง“ความกล้าฝัน” (Dare to Dream) ของผู้ก่อตั้งอาเซียนเมื่อ 52 ปีที่แล้ว ที่อยากจะเห็นภูมิภาคที่มีความมั่นคงทางการเมือง ความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และความก้าวหน้าทางสังคม ซึ่งสะท้อนเจตนารมณ์ผ่านปฏิญญากรุงเทพฯที่ได้ลงนามเมื่อปี 1967 และรวมไปถึง ผู้กล้าฝันจากรุ่นสู่รุ่นที่ร่วมกันสานต่อเจตนารมณ์ดังกล่าว ตลอดระยะเวลา 52 ปีที่ผ่านมา
นอกจากความกล้าฝัน และตลอด 5 ทศวรรษที่ผ่านมา คงไม่สามารถสร้างให้บ้านอาเซียนหลังนี้เติบโตอย่างแข็งแรง และก่อตัวเป็นรูปเป็นร่างอย่างมั่นคง จากเพียง “สมาคม” ที่รวมกลุ่มกันอย่างหลวมๆ มาสู่ “ประชาคม” ที่บูรณาการในทุกมิติอย่างลึกซึ้งอย่างเช่นทุกวันนี้ หากปราศจาก “ความกล้าลงมือ” (Dare to Do) ของผู้ขับเคลื่อนความฝันทั้งหลาย ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ซึ่งแน่นอนว่า หมายรวมถึงทุก ๆ ท่าน ณ ที่แห่งนี้ด้วย
หากอาเซียนไม่ลงมือจัดตั้งคณะทำงานเพื่อพัฒนาแนวคิดเขตการค้าเสรีอาเซียน หรือ อาฟต้า ให้เป็นรูปธรรม โดยใช้กลไกการลดอัตราภาษีนำเข้าระหว่างกัน (Common Effective Preferential Tariff Scheme) ในช่วงต้นทศวรรษที่ 1990 ประเทศสมาชิกอาเซียนอาจยังคงทำการค้าด้วยกำแพงภาษีที่สูง ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการขยายตัวทางการค้าภายในภูมิภาค และไม่ดึงดูดผู้ลงทุนจากต่างชาติให้มาใช้ประโยชน์จากภาษีที่ลดลง
หากอาเซียนไม่ริเริ่มแนวคิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ เออีซี และลงมือศึกษาความเป็นไปได้และประโยชน์ของการพัฒนาความร่วมมือด้านเศรษฐกิจของอาเซียนไปสู่การจัดตั้งเป็นประชาคมเศรษฐกิจเพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านเศรษฐกิจให้ใกล้ชิดกันยิ่งขึ้น ในช่วงต้นทศวรรษที่ 2000 ประเทศสมาชิกอาเซียน อาจยังคงไม่สามารถใช้ประโยชน์จากตลาดและฐานการผลิตเดียวที่มีฐานลูกค้ากว่า 630 ล้านคน และจากความเชื่อมโยงและการอำนวยความสะดวกทางการค้าที่ลดต้นทุนในการทำธุรกรรมและการขนส่งระหว่างกัน
และหากอาเซียนไม่ลงมือเสนอข้อริเริ่มความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรือ อาร์เซ็ป เพื่อรักษาบทบาทความเป็นแกนกลางของอาเซียนในการขับเคลื่อนการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจกับคู่ภาคีภายนอก
อาเซียนทั้ง 6 ประเทศ ในช่วงต้นทศวรรษที่ 2010 ประเทศสมาชิกอาเซียนอาจไม่สามารถคว้าประโยชน์จากขนาดตลาดที่มีประชากรรวมกันกว่า 3,500 ล้านคนหรือเกือบครึ่งของประชากรโลก และขนาดเศรษฐกิจที่มีมูลค่าจีดีพี กว่า 27.3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณร้อยละ 32.3 ของจีดีพี โลก ซึ่งมีแนวโน้มจะประสบความสำเร็จในอนาคตอันใกล้นี้
และคงไม่ได้กล่าวเกินความเป็นจริงว่า การกล้าลงมือของผู้ขับเคลื่อนความฝันในอาเซียนด้วยวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลและความมุ่งมั่นให้เกิดผลลัพธ์ที่จับต้องได้ ช่วยสร้างบ้านอาเซียนแห่งประโยชน์และโอกาสสำหรับพลเมืองอาเซียนทุกคนอย่างแท้จริง
สำหรับการเป็นประธานอาเซียนของไทยในปีนี้ ไทยได้แสดงบทบาทอย่างแข็งขันในฐานะเจ้าบ้านที่ต่อเติมบ้านหลังนี้ของพวกเราชาวอาเซียนให้มั่นคงและแข็งแรงยิ่งขึ้น เพื่อรองรับกระแสความเปลี่ยนแปลงทั้งเชิงภูมิเศรษฐศาสตร์และภูมิรัฐศาสตร์ที่สร้างความสั่นคลอนต่อโครงสร้างและเสาหลักของบ้านอาเซียนได้ตลอดเวลา ด้วยเหตุนี้ ไทยจึงได้สานต่อการขับเคลื่อนภูมิภาคอาเซียนต่อไป ด้วยแนวคิดหลัก คือ “ร่วมมือ ร่วมใจ ก้าวไกล ยั่งยืน” (Advancing Partnership for Sustainability)
และท่ามกลางกระแสความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีอย่างก้าวกระโดด อาเซียนจึงต้อง “ก้าวหน้า” (Advancing) สู่อนาคต เพื่อเตรียมคว้าประโยชน์และโอกาส และพร้อมเดินหน้าไปด้วยกันกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ ไม่ว่าจะเป็น ปัญญาประดิษฐ์ อินเทอร์เน็ตของทุกสรรพสิ่ง เทคโนโลยีชีวภาพ และพันธุวิศวกรรม ผ่านการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อเศรษฐกิจดิจิทัลและอุตสาหกรรมอัจฉริยะ โดยเฉพาะการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ผู้ประกอบการรายย่อย และองค์ความรู้ทางเทคโนโลยีและนวัตกรรม
นอกจากนี้ ท่ามกลางกระแสความท้าทายทางการค้าโลกที่เกิดขึ้น อาเซียนจึงต้อง “ร่วมใจ” (Partnership) กันเสริมสร้างความเชื่อมโยง ทั้งภายในและภายนอกภูมิภาค ไม่มีเวลาใดที่เหมาะสมไปกว่านี้อีกแล้วในการผลักดันให้การเจรจาจัดทำความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรือ อาร์เซ็ป ซึ่งอยู่ในช่วงโค้งสุดท้ายของการการเจรจาให้บรรลุผลสำเร็จในปีนี้ ซึ่งจะแสดงให้เห็นถึงความเชื่อมั่นของอาเซียนและคู่เจรจาในการเชื่อมโยงระบบการค้าการลงทุนเข้าด้วยกัน โดยยึดมั่นในระบบการค้าพหุภาคีที่ยึดถือกฎเกณฑ์กติกาเป็นสำคัญ
และท่ามกลางกระแสความตื่นตัวด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติที่จะหมดและหายไปได้ ถ้าเราไม่ร่วมกันทำนุบำรุงรักษา อาเซียนจึงต้องส่งเสริมความ “ยั่งยืน” (Sustainability) ในทุกมิติ อย่างเชื่อมโยงกัน อาทิ การทำประมงที่คำนึงที่สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรทางทะเล และการวิจัยและพัฒนาพลังงานหมุนเวียนเพื่อนำมาใช้แทนเชื้อเพลิงที่มีอยู่อย่างจำกัด
ดังนั้นถ้าไม่ใช่พวกเรา ณ ที่แห่งนี้ จะเป็น “ใคร” ที่เป็นผู้เริ่มลงมือ ถ้าไม่ใช่ตอนนี้ ณ เวลานี้ จะเป็น “เมื่อไร" ที่เราจะเริ่มลงมือ และ ถ้าไม่ใช่ที่นี่ ณ ที่แห่งนี้ จะเป็น “ที่ไหน” ที่พวกเราจะร่วมกันจับมือเพื่อขับเคลื่อนความฝันของผู้ก่อตั้งและผู้กล้าฝันทั้งหลายไปสู่การปฏิบัติให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม
"ผมเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่า รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนที่มารวมตัวกันอีกครั้งเป็นรอบที่ 51 นี้ จะ “ร่วมมือร่วมใจ” กันขับเคลื่อนความฝันของอาเซียนให้ “ก้าวไกล” และ “ยั่งยืน” ผ่านการเตรียมตัวรับมือกับอนาคต เสริมสร้างความเชื่อมโยง และส่งเสริมความยั่งยืนในทุกมิติ เพื่อขับเคลื่อนการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจให้เจริญก้าวหน้าและใกล้ชิดกันมากขึ้น
และเหนือสิ่งอื่นใด สิ่งที่อาเซียนร่วมกันทำ ร่วมกันขับเคลื่อนมาทั้งหมดตลอดช่วง 5 ทศวรรษที่ผ่านมานี้ อาจมีคำถามว่า สิ่งนี้พวกเราทำไป “เพื่ออะไร” ผมคิดว่า เราสามารถตอบได้ด้วยความภาคภูมิใจว่า ความตั้งใจและผลที่เราต้องการให้เกิดขึ้น คือ เพื่อประโยชน์ของประชาชนชาวอาเซียนและอนุชนรุ่นหลังทุกคน ให้มีความเจริญก้าวหน้า มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี และไม่มีใครถูกทอดทิ้งใครไว้ข้างหลัง
"สิ่งสำคัญที่สุด คือเรากำลังเผชิญกับสงครามการค้า ดังนั้นเราต้องพึ่งพากันและกัน เราทำคนเดียวไม่ได้ โลกได้เปลี่ยนแปลงนับวันปัญหาจะมากขึ้นเรื่อยๆ คาดหวังว่าอาร์เซ็ปจะจบปีนี้ มาตรการใดที่เกิดผบกระทบเราร่วมแก้ และปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำเราต้องร่วมกันแก้ไข เรื่องดิจิตอลนั้นมีทั้งวิกฤติและโอกาส เรื่องขยะทะเล ผมขอความร่วมมือช่วยกันลดขยะทะเลและพัฒนาด้านสมาร์ทซิติในเมืองเก่า ดิจิทัลในเมืองใหม่ และระบบการค้าเอสเอ็มอีเราก็ส่งเสริม สุดท้ายผมห่วงเรื่องแรงงาน เพราะมีเครื่องจักรเพิ่มขึ้น จึงขอให้ดูแลเรื่องปัญหาแรงงาน ท้ายนี้ฝากความระลึกถึงท่านสุลตาน และ นายกฯทุกประเทศด้วย
สุดท้ายนี้ ไทยพร้อมเต็มที่ในฐานะเจ้าบ้านที่จะต้อนรับแขกผู้มีเกียรติทุกท่านให้มีความสุข สบาย ในระหว่างพำนักอยู่ในประเทศไทยเสมือนเป็นบ้านหลังที่สอง (Second Home) ของท่าน และไทยพร้อมที่จะร่วมกับเพื่อนสมาชิกอาเซียนทำงานอย่างแข็งขันเพื่อสร้างเศรษฐกิจของภูมิภาคอาเซียนที่มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนตลอดไป " นายกรัฐมนตรีกล่าว