‘วีรศักดิ์’ เตรียมทัพพาณิชย์ลงพื้นที่อีสานใต้ ช่วยเกษตรกร SME
ยกระดับรายได้ด้วยมาตรฐานสินค้า เดินหน้าค้าขายต่างประเทศผ่านเอฟทีเอ
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เตรียมนำทีมคณะผู้เชี่ยวชาญของกระทรวงฯ ลงพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์และชัยภูมิ มุ่งช่วยเหลือเกษตรกร SME และวิสาหกิจชุมชนพัฒนาสินค้า เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาด แนะช่องทางทำตลาดทั้งออนไลน์และออฟไลน์ และชี้ให้เห็นประโยชน์จากการใช้ FTA เพิ่มโอกาสในตลาดต่างประเทศ หวังยกระดับรายได้อย่างยั่งยืน
นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า หลังสถานการณ์โควิด-19
เริ่มคลี่คลาย และมีการผ่อนปรนมาตรการต่างๆ จึงได้เชิญกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า และกรมทรัพย์สินทางปัญญามาวางแผนร่วมกันเพี่อเตรียมนำทีมผู้เชี่ยวชาญจากทั้ง 3 หน่วยงาน ลงพื้นที่อีสานใต้ จังหวัดบุรีรัมย์และชัยภูมิ
เพื่อช่วยเกษตรกร SME และวิสาหกิจชุมชนในพื้นที่ผลิตสินค้าได้ตรงตามความต้องการของตลาด พัฒนามาตรฐานสินค้าให้เป็นที่ยอมรับ เพิ่มมูลค่าสินค้าโดยการขึ้นทะเบียนสินค้าท้องถิ่นเป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ที่สามารถเชื่อมโยงเรื่องราว ลักษณะพิเศษ และจุดเด่นของสินค้ากับพื้นที่ ตลอดจนแนะนำช่องทางการทำตลาดทั้งออนไลน์และออฟไลน์ เพื่อขายในประเทศและเพื่อส่งออก โดยใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรี หรือ เอฟทีเอ สร้างแต้มต่อให้กับสินค้า
นายวีรศักดิ์ เพิ่มเติมว่า การลงพื้นที่ในครั้งนี้ เป็นการดำเนินการร่วมกับสภาเกษตรกรแห่งชาติ และกรมส่งเสริมสหกรณ์ เพื่อให้การลงพื้นที่ครั้งนี้เกิดประโยชน์แก่ผู้เข้าร่วมมากที่สุด โดยในวันที่ 16 กรกฎาคม 2563 จะมีการจัดสัมมนา “การเพิ่มศักยภาพเกษตรกรและสหกรณ์การเกษตร” สร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องการใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ฉบับต่างๆ เพื่อเพิ่มแต้มต่อทางการค้า
จากนั้น จะลงพื้นที่เยี่ยมชมห้างค้าปลีกทวีกิจ และศูนย์เรียนรู้การทอผ้าฝ้ายอัคนี แนะนำช่องทางการจำหน่ายสินค้าชุมชนสู่ตลาดการค้าเสรี จังหวัดบุรีรัมย์ และ ระหว่างวันที่ 22-23 กรกฎาคม 2563 จะลงพื้นที่เพื่อมอบทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ให้กับ “ส้มโอทองดีบ้านแท่น” เยี่ยมชมการผลิตตะโกดัด การปลูกผักปลอดสารพิษ และกลุ่มทอผ้าขิดย้อมสีธรรมชาติบ้านโนนเสลา พร้อมจัดเวทีสัมมนา “พัฒนาความพร้อมทางการค้าของสหกรณ์ไทยสู่การค้าเสรี” ให้กับสมาชิกสหกรณ์ในพื้นที่จังหวัดชัยภูมิ
“สินค้าเกษตร สินค้าชุมชนของไทยหลายชนิดมีความน่าสนใจ และมีศักยภาพเพียงพอที่จะสามารถพัฒนาให้กลายเป็นสินค้าส่งออกสำคัญของประเทศได้ในอนาคต แต่อาจขาดองค์ความรู้ต่างๆ ที่จะทำให้ประสบความสำเร็จได้ จึงเชื่อมั่นว่าการดำเนินการในครั้งนี้ จะช่วยเพิ่มโอกาสในการทำการค้า ยกระดับความสามารถในการแข่งขันของเกษตรกร ผู้ประกอบการ SME สหกรณ์ และวิสาหกิจชุมชนในอีสานใต้ ตลอดจนสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจฐานรากของไทยในระยะยาว” นายวีรศักดิ์ เสริม